ติ๋ม


กรรมของคนรู้มาก
คัดลอกจาก นิตยสาร
สารกระตุ้น ฉบับเดือนสิงหาคม
2549 ,หน้า 130
ผู้เขียน :  สุรศักดิ์
กาญจนภูษิต


-----------------------------------


ก่อนเรียนสถาปัตย์ฯ
ผมเห็นบ้านเมืองสวยงามดี
ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไม่มีปัญหา


พอได้เรียนสถาปัตย์ฯ
เริ่มรู้ว่าความงามคืออะไร
รสนิยมที่ดีคืออะไร


ทันใดนั้นเอง
บ้านเมืองที่เคยสวยงามก็เปลี่ยนไป
 กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความเกะกะ
ทั้งเสาไฟ เสาทางด่วน
ป้ายโฆษณา
บ้านที่มีเสาโรมันนั่นก็ห่วย
ตึกสูงโด่เด่ในเขตเมืองเก่านั่นก็แย่
 ลามไปถึงวัดที่สร้างอุโบสถ
ผิดสัดส่วนก็ไม่งามตา
เห็นแล้วก็ยิ่งหงุดหงิดรำคาญใจไม่ใช่น้อย

             
แบบที่เรียกว่ายิ่งรู้ก็ยิ่งทุกข์หรือเปล่า


ก่อนจะสนใจการเมือง
บ้านเมืองดูเหมือนไม่มีปัญหา
 ผมเองก็มีความสุขกับชีวิตดี
             

แต่เมื่อได้เริ่มเสพข้อมูลทางการเมืองมากขึ้น
 ได้รู้ได้เห็นถึงความชั่วร้ายของคนขี้
โกงที่ทำไว้กับบ้านเมืองที่เรารัก
 ย่ำยีผลประโยชน์ส่วนรวมเอาไปเขมือบกันเอง
แถมยังปันหน้าเป็นคนดี
อยู่ในสังคมได้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่รู้ๆกัน


แต่จับไม่ได้คาหนังคาเขา
 ก็ยิ่งสร้างความอึดอัดใจให้กับชีวิตมากขึ้น
แต่ละวันก็มีข่าวใหม่ๆมาให้รู้
ยิ่งรู้ก็ยิ่งเครียดขึ้นไปอีก
             

แบบนี้เรียกว่าเป็นกรรมของคนรู้มากได้ไหม
 ไม่รู้ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว


ก่อนจะรู้จักกับติ๋ม
ติ๋มก็ดูเป็นคนติ๋มๆ ดี จนกระทั่งผมรักติ๋ม
ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
             

ผมโทรคุยกับติ๋มเป็นประจำ
คลุกคลีเอาใจใส่ติ๋มจนได้รู้ธาตุแท้ของความเป็นติ๋มมากขึ้น


ติ๋มเปลี่ยนแฟนเหมือนเปลี่ยนถุงเท้า
 ติ๋มให้ความหวังกับผู้ชายทุกคนที่หลงเข้ามา บ่อยครั้งที่


ติ๋มต้องโกหกเพื่อสับรางรถไฟ
 หลังจากหัวปักหัวปำอยู่ได้พักใหญ่
 ผมก็รู้ว่าติ๋มเป็นคนเห็นแก่ตัว ใจร้ายหลายใจ
และติ๋มก็มีวิธีป้องกันตัวเองให้ดูดีในสายตาคนอื่นเสมอ


ยิ่งรู้ก็ยิ่งช้ำ ยิ่งรักก็ยิ่งเกลียด
มันอาจจะดีกว่าหรือเปล่า ถ้าเราจะไม่รู้อะไรเสียบ้าง
เพื่อให้ชีวิตไม่ต้องจมอยู่กับความทุกข์ที่ได้รู้ ได้เห็น
ในเรื่องที่ไม่อยากรู้ไม่อยากเห็น

             
ความคิดนี้ทำให้ผมนึกไปถึงคำพูดของนักปราชญ์เชนท่านหนึ่ง
ที่ว่า  “ก่อนเรียนเชนฉันเห็นภูเขาเป็นภูเขา
เมื่อได้เรียนเชนฉันเห็นภูเขาไม่เป็นภูเขา
เมื่อเข้าใจเชนฉันเห็นภูเขากลับมาเป็นภูเขา”
         

เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้น
ภูเขาที่เคยไม่ใช่ภูเขาก็กลายเป็นภูเขาเหมือนเดิมได้


ดูเผินๆ
อาจเหมือนการเล่นคำให้วกวน
แต่มันกลับทำให้ผมมสนใจคำว่า
“เข้าใจ”  มากเป็นพิเศษ  ไม่
ใช่เพราะใคร ก็เพราะติ๋มนั่นเอง

             
หลังจากที่เจ็บมาพอสมควร
จนจวนจะทนไม่ได้ ก็ควรจะถึงเวลาที่ผมจะตัดใจ
เสียที แต่ยิ่งตัดใจก็ยิ่งฝืนความรู้สึกตัวเอง
ยิ่งฝืนก็ยิ่งฝืด ผมจึงเปลี่ยนยุทธิวีธีรับมือเสียใหม่
แทนที่จะตัดใจก็เปลี่ยนมาทำความเข้าใจติ๋มแทน


ติ๋มเป็นผู้หญิงกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เกิด
แม่ต้องออกจากบ้านไปหารายได้
ทำให้ติ๋มรู้สึกขาดแคลนต้องการเติมเต็มให้กับชีวิต
โชคดีที่ติ๋มเป็นคนหน้าตาดี
ก็เลยมีคนอาสามาช่วยกันเติมเต็มให้กับติ๋มมากมาย


และการที่ติ๋มไม่เคยปฏิเสธคนเหล่านั้น
ไม่ได้หมายความว่าติ๋มเป็นคนไม่ดี เพียงแต่ติ๋มรู้สึกกลัวที่
จะต้องคอยอยู่คนเดียวเท่านั้น
ในขณะที่ผมเป็นทุกข์เพราะเห็นติ๋มเปลี่ยนแฟนเป็นว่าเล่น
ติ๋มเองกำลังเป็นทุกข์ที่ไม่สามารถหาจุดลงตัวให้กับตัวเองได้เหมือนกัน


เมื่อเข้าใจติ๋ม
ผมก็ไม่เหลือความโกรธเกลียดติ๋มอีกต่อไป
ติ๋มก็เป็นเช่นนี้เอง


มีความสุข มีความทุกข์ในแบบของติ๋ม
ยิ่งผมอยากให้ติ๋มเปลี่ยนไปเพื่อความพอใจของตัวเองเท่าไร
ผมเองนั่นแหละที่จะยิ่งเจ็บ


“ก่อนที่ผมจะรู้จักติ๋ม ผมเห็นติ๋มเป็นติ๋ม
เมื่อผมได้รู้จักติ๋มผมเห็นติ๋มไม่ใช่ติ๋ม 
จนผมได้เข้าใจติ๋ม ติ๋มก็กลับมาเป็นติ๋มอีกครั้ง”


วันหนึ่ง อาจารย์สถาปัตย์ฯ
ท่านหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเรียนด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ
แทบจะร้องยูเรก้าออกมา แล้วบอกว่า “ผมค้นพบแล้ว
เมืองไทยก็คือเมืองรกๆ เมืองหนึ่งนี่เอง 


ถ้าเมืองไทยไม่มีป้ายโฆษณางานวัด
ไม่มีแผงลอยข้างทาง
ไม่มีความไม่มีระเบียบให้เห็นเต็มถนน
เมืองนี้คงไม่ใช่เมืองไทย
พอเข้าใจแบบนี้แล้วก็เลยรู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก”


นี่แหละคือประโยชน์ของความเข้าใจ
ในระยะหลังผมจึงเอาใจใส่กับการทำความเข้าใจเป็นพิเศษ
เพราะความเข้าใจในทุกสิ่ง
เป็นการเรียนรู้ที่จะพาเราทะลุความซับซ้อนสับสน
ของเปลือกนอก ไปสู่ความเรียบง่าย
ที่รวมกันเป็นเอกภาพได้จนน่าแปลกใจ
             

ถ้าเรามีความเข้าใจให้ใครสักคน
เราคงไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญเขาได้ลงคอ
คนรู้มากจึงไม่ใช่คนมีกรรม
ถ้าเราสามารถพัฒนาความรู้นั้นมาเป็นความเข้าใจลึกซึ้ง
ชนิดที่รู้ไต๋กันเป็นอย่างดี


เราก็จะอยู่ร่วมกับ
ปัญหานั้นๆ ได้อย่างสงบสุข
เหมือนกับตอนที่เรายังไม่ได้รู้จักมันเลย
เข้าทำนอง“สูงสุดคืนสู่สามัญ”นั่นแหละ


สุดท้ายปัญหาก็ตกอยู่ที่ว่า
ในช่วงชีวิตหนึ่ง คนเราจะสามารถทำความ
เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเกลียดโกรธ กลัว ได้มากแค่ไหน


พระท่านว่าไม่ยากเลย เพียงแค่เริ่มทำความ
เข้าใจตัวเราเองให้ได้ก่อน
แล้วทุกสิ่งในโลกนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินทำความเข้าใจ
มีเรื่องน่าตื่นเต้นอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะบอก


พระอาจารย์ “ติช นัท ฮันห์”
พระเชนผู้ยิ่งใหญ่ชาวเวียดนามเคยอธิบายคำว่า
“นิพพาน” ด้วยภาษาง่ายๆ ว่า
มันคือเรื่องของ



“ความเข้าใจ” นั่นเอง


0 ความเห็น

Make A Comment
top